กรุณารอสักครู่่
ติดต่อสอบถาม โทร.1491 หรือ 02-908-8888
Advice IT Infinite Public Company Limited

iPrice ขุดลึก! อะไรที่ทำให้ Advice โตขึ้น แม้วิกฤต Covid-19 ก็ฉุดไม่อยู่

สำหรับนักธุรกิจแล้ว ไตรมาสแรกของทุกปีถือเป็นช่วงเวลากอบโกยอันเนื่องมากจากหลายเทศกาลชวนจ่ายเงินไม่ว่าจะเป็นวันหยุดยาวตั้งแต่วันคริสมาสต์ไปจนถึงปีใหม่, วันเด็ก, เทศกาลตรุษจีน และวันวาเลนไทน์ เป็นต้น แต่ถือเป็นเรื่องตลกร้ายที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ Covid-19 มาทำให้เกมพลิก แผนการตลาดของบริษัทน้อยใหญ่ทั้งหลายต้องหยุดชะงัก แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่กับ Advice อีคอมเมิร์ซสายไอทียักษ์ใหญ่ของไทย

 

จากงานวิจัยของ iPrice เรื่องสงครามอีคอมเมิร์ซ (Map of E-commerce) พบว่า Advice เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2019 ที่ผ่าน และยิ่งเร่งสปีดกว่าเดิมในช่วงท้ายของปี เมื่อสำรวจข้อมูลผ่าน SimilarWeb ย้อนหลังไป 6 เดือน ทำให้เห็นกราฟความสำเร็จของ Advice พุ่งสูงขึ้นเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2019 มีลดลงเล็กน้อยช่วงเดือนกุมภาพันธ์คาดเป็นช่วงเวลาที่ Covid-19 แพร่ระบาดอย่างหนักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นช่วงที่ประเทศจีนประกาศปิดเมือง ส่งผลให้การผลิตสินค้าไอทีไม่ว่าจะเป็นแบบสำเร็จรูป หรืออะไหล่ชะงักการผลิตตลอดจนปัญหาการขนส่งฝืดเคือง แต่ที่น่าสนใจคืออะไรที่ทำให้ Advice กลับมาผงาดอีกครั้งโดยใช้เวลาเพียงเดือนเดียว เป็นเหตุให้ iPrice ลอบสอบถามกลยุทธิ์การตลาดจาก Advice โดยผู้ไขข้อข้องใจคือคุณจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์การขาย และการตลาด โดยมีไฮไลท์ที่สำคัญ 4 ข้อด้วยกัน ดังนี้

 

1. ภาพรวมความสำเร็จของ Advice ในปี 2019 

ย้อนไป 3-4 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่แอดไวซ์จะประสบความสำเร็จในปี 2019 ทางแอดไวซ์ได้จัดทำแผนเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ซึ่งใช้องค์ประกอบทั้งหมด 2 ส่วนคือ ยอดขาย และกำไร ทางบริษัทแอดไวซ์ได้ปรับแผนโครงสร้างของปี 2019 ใหม่ แบ่งสัดส่วนเป็น ค้าส่ง 57% และค้าปลีก 43%  โดยมีแผนที่จะปรับเป็นครึ่งต่อครึ่งในปีต่อ ๆ ไป นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นการทำธุรกิจในรูปแบบ B2B และจะมีการปรับให้เป็นในรูปแบบของ B2C ตามมาอีกด้วย โดยมีการพัฒนาโปรแกรม SOP+ เพื่อสร้างความสะดวกในการซื้อ-ขายสินค้าแก่ดีลเลอร์ให้สามารถดูรายละเอียดสินค้า สต็อกสินค้า หรือคำสั่งซื้อทางออนไลน์ได้

จากระบบออนไลน์ที่แอดไวซ์วางรากฐานไว้ นำมาสู่การต่อยอดและได้เริ่มทำการตลาดออนไลน์ไปที่กลุ่ม B2C ในเวลาต่อมา ส่งผลให้ยอดขายในปี 2019 พุ่งขึ้นถึง 1,000 ล้านบาท พร้อมขยายการขายผ่านช่องทาง E-marketplace ผ่าน Shopee อีกด้วย สอดคล้องกับ Map of E-commerce Year-end Report 2019 ของ iPrice ที่ชี้ว่า Advice คือร้านค้าอีคอมเมิร์ซติดอันดับ 1 ใน 10 ของไทยที่มีจำนวนผู้เข้าชมสินค้ามากที่สุด และติดอันดับแรกของร้านค้าอีคอมเมิร์ซสายไอที

 

2. ว่าด้วยความท้าทายของธุรกิจไอทีในปี 2020

เนื่องจากจำนวนกลุ่มผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา บวกกับการซื้อสินค้าออนไลน์มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่ง Advice เล็งเห็นถึงความท้าทายนี้ จึงมุ่งพัฒนาระบบและเว็บไซต์ให้ใช้งานง่ายขึ้น ค้นหาเร็ว Advice จึงเปรียบเสมือน Index ของกลุ่มสินค้าไอที สำหรับความท้าทายคือ ปัจจุบันมี E-marketplace รายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาทำการตลาดในไทยมากขึ้น ประกอบกับภาพรวมของธุรกิจไอทีตั้งแต่ปี 2018-2019 ไม่ค่อยจะดีตามสถานการณ์เศรษฐกิจรวมทั่วโลก มิหนำซ้ำวิกฤต Covid-19 ยังกระหน่ำตั้งแต่ต้นปี จึงเหมือนเป็นตัววัดความแข็งแกร่งของเหล่าร้านค้าอีคอมเมิร์ซ หากเจ้าไหนวางรากฐานมาดี ผลกระทบที่ได้อาจเป็นแค่การขนส่งล่าช้าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเจ้าอื่นที่ต้องพึ่งพาสินค้าและการขนส่งจากจีนเพียงอย่างเดียว

 

3. Advice กางแผนตั้งรับ COVID-19

จากวิกฤต Covid-19 ส่งผลให้ยอดการสั่งซื้อสินค้าลดลงอันเนื่องมาจากผู้คนส่วนใหญ่ขาดรายได้ รวมถึงผลกระทบด้านอื่น เช่น ระบบขนส่ง ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเข้า-ออกจังหวัดต่าง ๆ แม้จะล่าช้าไปบ้างแต่ก็ยังผ่านไปได้ ซึ่งลูกค้าของ Advice สามารถเบาใจได้เพราะปัญหาการขนส่งส่วนใหญ่จะเป็นภายในประเทศมากกว่า และสืบเนื่องจากงานวิจัยเรื่อง iPrice จับมือกับ Parcel Perform เผย 5 ปัจจัยที่ ‘ผู้สั่งซื้อ’ ร้องให้ ‘ผู้ขาย’ หันกลับมามองและช่วยกันปรับปรุง พบว่า นักช้อปชาวไทยสามารถยอมรับการขนส่งที่ล่าช้าได้ หากมีการอัพเดตสถานะอยู่เสมอ ซึ่ง Advice ก็ได้พยายามเตรียมแผนการรับมือนี้ให้ดียิ่งขึ้น และแม้วิกฤต Covid-19 จะโจมตีเศรษฐกิจโลกมาได้หลายเดือนแล้ว แต่ Advice ก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้อยู่ชี้ให้เห็นถึงรากฐานที่มั่นคงของบริษัทได้เป็นอย่างดี

 

4. วิกฤตพลิกโอกาส ธุรกิจออนไลน์ เป้าหมายการผลักดันธุรกิจปี 2020

เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ทำให้เกิดผลกระทบต่อทุกภาคส่วนธุรกิจ แต่ก็ใช่ว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถพลิกเป็นโอกาสได้จากสถานการณ์นี้ทำให้ผู้คนเลือกอยู่บ้านมากขึ้นรวมถึงพฤติกรรมการบริโภคก็เปลี่ยนไปด้วย โดยเน้นการหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่าการออกไปเลือกซื้อเองนอกบ้านเพื่อความปลอดภัย ซึ่งแอดไวซ์ได้วางยุทธศาสตร์และเป้าหมายไปที่ธุรกิจออนไลน์อยู่แล้ว และยิ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำให้แอดไวซ์ต้องกำหนดตำแหน่งของกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจนขึ้นถือเป็นการบ้านที่ Advice ต้องทำการวิเคราะห์ต่อไป แม้ประเทศไทยจะผ่านพ้นสถานการณ์นี้แล้วกลายเป็น New Normal แล้วก็ตาม ซึ่งในปัจจุบันแอดไวซ์ได้เข้าร่วมกับ E-marketplace อย่าง Shopee เพื่อเพิ่มช่องทางการขายมากขึ้น ทั้งยังสามารถนำพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของลูกค้าในส่วนนี้มาวิเคราะห์เพื่อวางกลยุทธิ์เพิ่มเติมได้อีกด้วย

 

ยอดเข้าชมสินค้าของร้านค้าอีคอมเมิร์ซสายไอที (สัญชาติไทย) ระหว่าง Q1 2019 VS Q4 2020

มีหลายเสียงเล่าอ้างว่า ธุรกิจออนไลน์คงเป็นเพียงธุรกิจเดียวที่ไม่โดนผลกระทบวิกฤต Covid-19 แต่ความจริงแล้วแม้ไม่โดนทางตรงก็โดนทางอ้อม ไม่ว่าจะด้วยปัญหาการขนส่ง สินค้าขาดสต็อก หรือมาตรการ Social Distance ที่ทำให้พนักงานทำงานได้ไม่คล่องเหมือนเดิม เป็นต้น

จากงานวิจัยเรื่องสงครามอีคอมเมิร์ซของ iPrice พบว่า เมื่อนำจำนวนผู้เข้าชมสินค้าในเว็บไซต์โดยเฉลี่ยของไตรมาสที่ 4 ปี 2019 มาเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2020 โดยเน้น 10 อันดับร้านค้าอีคอมเมิร์ซสายไอทีสัญชาติไทยจะเห็นว่า มีร้านค้าจำนวนกว่าครึ่งที่มีจำนวนผู้เข้าชมสินค้าเพิ่มขึ้นกว่าเดิม โดย Advice เพิ่มสูงสุดถึง 3.6% นอกนั้นมีจำนวนเพิ่มโดยเฉลี่ย 1% แม้ดูเหมือนจะเป็นจำนวนไม่เยอะ แต่ถ้าในสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าแพร่ระบาดนี้จำนวนไม่ลดลงก็ถือเป็นความสำเร็จที่น่าภูมิใจไม่ใช่น้อยแล้ว

 

เขียน และวิเคราะห์โดย ขนิษฐา สาสะกุล iPrice